::  ความเป็นมาของโครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์   ::

 

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับภาคการผลิตของไทยคือ ขาดบุคลากรที่มีทักษะด้านการวิจัยและพัฒนา โดยเฉพาะในกลุ่มของ "นักเทคโนโลยี"หรือนักประดิษฐ์คิดค้นที่มีทักษะฝีมือทางด้านช่างและมีความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่สามารถนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ผสมผสานกับความรู้ความชำนาญด้านการประดิษฐ์คิดค้นเพื่อสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการผลิตและการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือการบริการในรูปแบบใหม่ๆ 

             สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ซึ่งผลิตคนในสายอาชีวะตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทน.) หน่วยงานในกระทรวงอุตสาหกรรมและมหาวิทยาลัยของรัฐที่เปิดสอนทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดทำ "โครงการจัดตั้งโรงเรียนเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์"ขึ้นมาเพื่อผลิตคนที่มีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และมีทักษะด้านช่างออกไปสร้างสรรค์นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคการผลิตและบริการของประเทศโดยนำร่องที่วิทยาลัยการอาชีพพานทองซึ่งในปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี)จังหวัดชลบุรี เป็นสถานศึกษาแรก และเปิดรับนักเรียนรุ่นแรกในปีการศึกษา 2551จำนวน 29 คน และปีการศึกษา 2552 ได้เปิดรับนักเรียนเพิ่มอีก 1 ห้อง จำนวน 30 คน  

 ขณะนี้การจัดการศึกษาของโรงเรียนเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์พัฒนาก้าวหน้าไปมากไม่ว่าจะเรื่องความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน ครูพี่เลี้ยงรวมถึงทัศนคติความเชื่อมั่นของผู้ปกครองที่มีต่อโรงเรียนที่มั่นใจการจัดการศึกษารูปแบบนี้และเพื่อสานต่อโครงการฯ ให้มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ล่าสุดได้มีการยกร่างแผนแม่บทโครงการในระยะ 5 ปี (พ.ศ.2553-2557) เพื่อวางกรอบขับเคลื่อนให้เกิดผลตามเป้าหมายที่วางไว้โดยเฉพาะการขยายผลการจัดการศึกษาในรูปแบบดังกล่าวไปยังสถานศึกษาอื่นที่มีศักยภาพของสอศ. ภายใต้ "โครงการวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์" เพื่อขยายฐานการผลิตกำลังคนที่มีความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นเชิงเทคโนโลยีที่เปรียบเหมือนหัวจักรของการอาชีวศึกษาโดยนำประสบการณ์ที่ได้จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) มาปรับใช้โดยดำเนินการในสถานศึกษาสังกัด สอศ. 5 แห่ง (4 ภูมิภาค) ที่มีความพร้อมในด้านต่างๆ อาทิ ความเข้มแข็งทางวิชาการศักยภาพของผู้บริหารและบุคลากรผู้สอน ความเชื่อมโยงกับภาคการผลิตและบริการหรืออยู่ใกล้นิคมอุตสาหกรรมที่จะสนับสนุนการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงรวมไปถึงความคล่องตัวในการบริหารจัดการขนาดพื้นที่ความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะด้านที่พักนักเรียนประจำนอกจากนี้กำหนดให้มีมหาวิทยาลัยเป็นพี่เลี้ยงเพื่อสนับสนุนด้านวิชาการเบื้องต้นวิทยาลัยเป้าหมาย ได้แก่ ภาคเหนือ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูนภาคใต้วิทยาลัยเทคนิคพังงา ภาคกลาง/ตะวันออก จะพัฒนาต่อยอดจากที่ดำเนินการโดนวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์(ชลบุรี) และขยายเพิ่มที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาสิงห์บุรีและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่วิทยาลัยเทคนิคสุรนารีส่วนมหาวิทยาลัยในพื้นที่ที่จะมาเป็นพี่เลี้ยงก็ได้ทาบทามไว้แล้ว 

 

 สำหรับการจัดการเรียนการสอนนั้นช่วงแรกจะจัดตั้งเป็นห้องพิเศษ(School in School) ในสถานศึกษาสังกัด สอศ.ที่ได้รับคัดเลือกโดยใช้สถานที่ตั้งและโครงสร้างพื้นฐานร่วมกันอาทิ ห้องเรียน ห้องปฏิบัติการ ห้องสมุด สนามกีฬา พื้นที่สันทนาการแต่จัดการศึกษาที่เป็นรูปแบบเฉพาะแยกจากการจัดการการศึกษาปกติของสถานศึกษาเดิมมีงบประมาณและบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นการเฉพาะและเมื่อผลการดำเนินงานที่พอใจจะพิจารณาขยายผลเป็นวิทยาลัยเต็มรูปแบบภายใต้ชื่อที่เป็นมาตรฐานเดียวกันโดยวิทยาลัยแต่ละแห่งอาจเข้าร่วมเป็นวิทยาลัยเครือข่ายใน "สถาบันการอาชีวศึกษา"ในแต่ละพื้นที่เพื่อเชื่อมต่อไปสู่การจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรีสายเทคโนโลยีต่อไปนอกจากนี้ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารโครงการเพื่อรับผิดชอบด้านการกำหนดนโยบายการขยายผลด้านวิชาการและการบริหารจัดการส่วนการจัดการเรียนการสอนจะเป็นลักษณะของโรงเรียนประจำเพื่อให้สามารถพัฒนาศักยภาพของนักเรียนได้เต็มที่และเข้มข้นจัดให้มีกิจกรรมเสริมหลักสูตรทั้งในเวลาและนอกเวลาเรียนและสอนโดยผสมผสานระหว่างความรู้เชิงประยุกต์ทั้ง 8 กลุ่มสาระวิชาทั้งวิชาสามัญ และวิชาที่เป็นทักษะวิชาชีพ โดยใช้กระบวนการเรียนการสอนแบบ Project-Based Teaching and Learning ส่วนหลักสูตรซึ่งมีเป้าหมายบ่มเพาะนักเรียนตั้งแต่ระดับปวช.จนถึงปริญญา จึงต้องพัฒนาหลักสูตรเฉพาะขึ้นมารองรับทั้ง 3 ระดับ คือ ปวช. ปวส. และปริญญาตรีสายเทคโนโลยี (รวม 7 ปี) โดนระดับ ปวช. สาขาช่างอุตสาหกรรมฐานวิทยาศาสตร์จะนำหลักสูตรนำร่องที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ (ชลบุรี) มาเป็นแนวทางและจัดให้มีคลินิกวิชาการในช่วงค่ำเพื่อให้คำปรึกษารายวิชาต่างๆและการทำโครงงานทักษะประสบการณ์เน้นการเรียนรู้และการพัฒนาตนเองและทักษะชีวิตเพื่อให้เติบโตไปเป็นพลเมืองที่ดีและสามารถอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข 

 

นอกจากนี้ยังมีแผนจะพัฒนาหลักสูตรระดับปวส. และปริญญาตรีสายเทคโนโลยีมารองรับด้วยเพื่อส่งเสริมนักเรียนกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่องจนจบปริญญาตรีและสร้างโอกาสในการขยายผลโครงการไปสู่การจัดการการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษาต่อไปในอนาคตโดยโครงการจะคัดเลือกนักเรียนที่จบชั้น ม.3 ที่มีความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์ในระดับดีมีแววด้านความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการเป็นผู้สร้างสรรค์เทคโนโลยีมีศักยภาพด้านการประดิษฐ์คิดค้นเชิงเทคโนโลยี โดยจำกัดสิ่งประดิษฐ์ประชาสัมพันธ์เชิงลึกร่วมกับอาชีวศึกษาจังหวัดการเทียบโอนขึ้นชั้นปวช.ปี 2 ในโครงการหรือร่วมมือกับมหาวิทยาลัยที่เป็นเครือข่ายประชาสัมพันธ์เพื่อดึงความสนใจของนักเรียนอีกทางหนึ่ง 

 

ด้านบุคลากรก็จะใช้ทั้งอาจารย์ประจำของสถานศึกษา รับผิดชอบการสอนในรายวิชาชีพและวิชาสามัญควบไปกับอาจารย์พิเศษจากภายนอกรับผิดชอบสอนในวิชาที่ไม่ใช่ความเชี่ยวชาญของสถานศึกษาโดยเฉพาะวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในขณะเดียวกันสถานศึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะต้องบรรจุครูเพิ่มและเร่งพัฒนาบุคลกรภายในให้มีความสามรถสอนในรายวิชาเหล่านี้ได้หลังจากครบ 3 ปี แรกไปแล้วพร้อมกับพัฒนาครูพี่เลี่ยงเพื่อเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้และการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนเพื่อให้สามารถบูรณาการความรู้ด้านวิชาการและทักษะวิชาชีพเข้าด้วยกันรวมทั้งให้คำปรึกษาการทำ Project-Based Teaching and Learning รวมไปถึงการดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของนักเรียนทั้งในสถานที่พักและที่โรงเรียนโดยกำหนดให้มีครูพี่เลี้ยง 1 คนต่อนักเรียน 15 คน  

ทันทีที่มีการดำเนินงานโครงการจัดตั้งวิทยาลัยเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ตามแผนแม่บทโครงการระยะ 5 ปีเกิดขึ้นและประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมสิ่งที่เราจะได้เห็นอย่างแรกคือการมีแหล่งบ่มเพาะนักเรียนที่มีความสามารถด้านการประดิษฐ์คิดค้นเชิงเทคโนโลยีและมีศักยภาพจำนวน 5 แห่ง ที่จะพัฒนาไปเป็นนักเทคโนโลยี จำนวน 750 คน มีหลักสูตรต้นแบบอย่างน้อย 2 หลักสูตรเพื่อเป็นหลักสูตรต้นแบบให้สถานศึกษาอื่นในสังกัด สอศ. ทั้งยังจะทำให้มาตรฐานการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาได้รับการยอมรับและยกระดับให้เป็นแหล่งผลิตบุคลากรที่มีความสามารถในการ"สร้าง" และ "พัฒนา" เทคโนโลยีเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสร้างนวัตกรรมให้กับประเทศนอกจากนี้ยังเป็นการสร้างทางเลือกใหม่ทางการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านการประดิษฐ์คิดค้นเชิงเทคโนโลยีสร้างโอกาสดึงดูดเด็กเก่งเข้าศึกษาต่อในสายอาชีวะเพิ่มมากขึ้นเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสังคมว่าการอาชีวศึกษาเป็นการศึกษาที่มีคุณภาพสามารถผลิตกำลังคนที่จะกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรมทางเทคโนโลยี